เศรษฐกิจพอเพียง มีคุณลักษณะ ๓ ประการ ได้แก่ ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป หรือไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง และต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ความมีเหตุผล หมายถึง ทุกการตัดสินใจ การกระทำ การลงทุน ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล คำนึงถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเผชิญผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้ ต้องมีเงื่อนไขสำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ มีความรู้ คือ มีความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวังในการนำความรู้ วิทยาการเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการปฏิบัติ มีคุณธรรม คือ มีความตระหนัก มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร และใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
พระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง“ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มิได้หมายถึง ระบบเศรษฐกิจ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ค้าขายไม่ส่งออก ไม่ผลิตเพื่อคนอื่น แต่เป็นแนวคิดที่เน้นการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนบนรากฐานที่เข้มแข็ง โดยชี้ให้เห็นหลักการตนเป็นที่พึ่งของตนเองให้ได้ก่อน จากนั้นจึงพัฒนาตนเองเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเป็นที่พึ่งแก่ผู้อื่นได้ และนำไปสู่สังคมที่มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ในที่สุดพอมีพอกินเป็นขั้นที่หนึ่ง ขั้นต่อไปให้มีเกียรติยืนด้วยตนเอง ขั้นที่สามให้นึกถึงผู้อื่น(พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่สมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๘)
“---เชื่อว่าประเทศไทย จะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้อย่างที่เคยพูดมาหลายปีแล้วว่าภูมิประเทศยัง “ให้” คือ เหมาะสม แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัดและต้องไปในทางถูกต้อง...”(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ ศาลาดุสิตดาลัย ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐)
“....คำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณ ตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง”(พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น