วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

รายงานผลการวิจัย เรื่อง การศึกษาความพึงพอใจของสถานประกอบการที่มีต่อผู้สำเร็จการศึกษา สาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนพังงา ปีการศึกษา 2552

ชื่อโครงการวิจัย   การศึกษาความพึงพอใจของสถานประกอบการที่มีต่อผู้สำเร็จการศึกษา
                                สาขาวิชาการ ปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนพังงา ปีการศึกษา 2552
ผู้ทำการวิจัย         ว่าที่ร.ต. สายันต์ ปานบุตร หัวหน้าโครงการวิจัย
ปีที่ทำการวิจัย       พ.ศ. 2553


บทคัดย่อ

 
               การศึกษาความพึงพอใจของสถานประกอบการที่มีต่อผู้สำเร็จการศึกษา สาขาการปกครองท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชนพังงา ปีการศึกษา 2552 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงา สาขาการปกครองท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบ 3 ด้านคือ ด้านความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ/วิชาชีพ ด้านคุณธรรม จริยธรรม และด้านความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ส่งผลต่อการทำงาน กลุ่มประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นายจ้าง ผู้ประกอบการหรือหัวหน้างานที่ผู้สำเร็จการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนพังงาเข้าไปทำงาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามเกี่ยวกับความพึงพอใจของสถานประกอบการที่ใช้แรงงานผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงา จำนวน 25 ชุด ในช่วงเดือนเมษายน 2553 โดยได้รับความร่วมมือตอบแบบสอบถามจำนวน 22 ชุด คิดเป็นร้อยละ 88.00

 
               ผลการศึกษาพบว่า ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง มีอายุอยู่ในช่วงอายุ 46-50 ปี มากที่สุด ทำงานในส่วนราชการมากที่สุด และลักษณะของงานที่ผู้สำเร็จการศึกษาปฏิบัติ คือ ด้านกฎหมาย ปกครอง มากที่สุด และผลการศึกษาด้านความพึงพอใจเกี่ยวกับความรู้ ความสามารถและคุณลักษณะของผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงา พบว่า นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงาในระดับดี ค่าเฉลี่ย 3.88 นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษามากที่สุดในด้านคุณธรรม จริยธรรม ค่าเฉลี่ย 3.99 อันดับรองลงไป คือ ด้านความรู้ความสามารถพื้นฐานที่ส่งผลต่อการทำงาน ค่าเฉลี่ย 3.88 และอันดับที่สามได้แก่ ด้านความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ/วิชาชีพ ค่าเฉลี่ย 3.72 นายจ้าง/ผู้ประกอบการ มีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพังงาในระดับดีทุกด้าน สำหรับคุณลักษณะย่อยที่นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนพังงามากที่สุด ได้แก่ ความมีมนุษยสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน ความมีบุคลิกภาพที่ดีแต่งกายเหมาะสม และมีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น สำหรับคุณลักษณะย่อยที่นายจ้างมีความพึงพอใจต่อผู้สำเร็จการศึกษาน้อยที่สุด ได้แก่ ความสามารถในการใช้ภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร มีความรู้ความเข้าใจด้านองค์กรและการจัดการ และการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง



วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

วิทยาลัยชุมชนพังงานิเทศการจัดการเรียนการสอน

วิทยาลัยชุมชนพังงาไปนิเทศการจัดการเรียนการสอน ณ หน่วยจัดการศึกษาคุระบุรี ในวันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2553 นำโดยนายประพันธ์ วงศ์พานิช ประธานกรรมการสภา วชช.พังงา และนายจำรัส ขนาดผล รอง ผอ. ในการนี้คณะครูอาจารย์พิเศษประจำหน่วยจัดการศึกษาคุระบุรีได้รับคำแนะนำในการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ให้ตรงกับการจัดการเรียนการสอน

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

รายงานผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาความต้องการของชุมชนในจังหวัดพังงา กรณีศึกษาอำเภอคุระบุรี

เรื่อง การศึกษาความต้องการการศึกษาของชุมชนในจังหวัดพังงา กรณีศึกษาอำเภอคุระบุรี

คณะผู้วิจัย ว่าที่ ร.ต.สายันต์ ปานบุตร และนายโกศล ตึกขาว

ปีที่ทำการวิจัย พ.ศ. 2553

บทคัดย่อ

          การศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาความต้องการการศึกษาของชุมชนในจังหวัดพังงา กรณีศึกษาอำเภอคุระบุรี ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทโดยทั่วไปของชุมชนในอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ด้านความต้องการการศึกษาและการฝึกอาชีพของประชาชนในชุมชนอำเภอคุระบุรี และเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนพังงาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนจังหวัดพังงา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนในอำเภอคุระบุรี ได้แก่ ตำบลคุระ ตำบลแม่นางขาว ตำบลบางวัน ตำบลเกาะพระทอง และเทศบาลตำบลคุระ รวมทั้งสิ้นจำนวน 75 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามที่จัดทำขึ้นจากการดำเนินการจัดเวทีประชาคมของอำเภอคุระบุรี

ผลการวิจัยพบว่า

1. ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สถานภาพสมรส มีอายุเฉลี่ย 34 ปี อาศัยอยู่ในเขตตำบลคุระ มีการศึกษาสูงสุดอยู่ที่ระดับมัธยมศึกษา/ปวช. นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 5,000-10,000 บาท

2. ผลการศึกษาความต้องการการศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรอนุปริญญา

ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการศึกษาในระดับอนุปริญญาสาขาการปกครองท้องถิ่นมากที่สุด รองลงมาคือสาขาการจัดการทั่วไป คอมพิวเตอร์ธุรกิจ การศึกษาปฐมวัย และการพัฒนาชุมชน ตามลำดับ โดยช่วงเวลาที่ต้องการเรียนหลักสูตรอนุปริญญามากที่สุด คือ ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ และสาเหตุสำคัญในการศึกษาต่อที่วิทยาลัยชุมชนพังงา คือ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ รองลงมาคือเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

3. ความต้องการการศึกษาหลักสูตรระยะสั้น

ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการเรียนหลักสูตรระยะสั้นสาขาคอมพิวเตอร์เบื้องต้นมากที่สุด รองลงมาคือ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภาษาต่างประเทศ (ภาษาอังกฤษ) การทำอาหารและขนม กฎหมายเบื้องต้นสำหรับประชาชน ตามลำดับ ต้องการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น 60 ชั่วโมง ช่วงเวลาที่ต้องการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น คือ วันเสาร์-อาทิตย์ (08.00-16.00 น.) และสาเหตุสำคัญที่เลือกเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่วิทยาลัยชุมชนพังงา คือ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน รองลงมาคือเพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะในการประกอบอาชีพ