วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ทำไม ครู อาจารย์ ควรทำวิจัย

การทำวิจัยมีประโยชน์ต่อคุณครู อาจารย์ ดังนี้

1. คุณครูจะได้ความจริง (Truth) ที่ต้องการเพื่อตอบคำถามของตนเอง ยกเว้น ว่าคุณครูจะไม่เคยตั้งคำถามอะไรเลย คำถามที่ดี ควรจะถามว่า ทำไม (Why) อย่างไร (How) มากกว่า อะไร (What) หากตั้งคำถามที่มีประโยชน์ ก็จะได้รับคำตอบที่มีประโยชน์เช่นกัน นักเรียนก็เช่นเดียวกัน คุณครูควรสอนให้เขารู้จักตั้งคำถามที่ดี เช่น (ผมยกตัวอย่างเอง) การพาไปทัศศึกษาที่อนุสาวรีย์แห่งหนึ่งแล้วให้เด็กจดบันทึกมาส่งครู ครูควรสั่งให้เด็กนักเรียน ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องมีอนุสาวรีย์? และทำไมต้องมาอยู่ ณ ที่ตรงนี้? แล้วทำการค้นหา เป็นต้น หากคุณครูยังใส่แว่นตาอันเดิม แล้วมองอย่างเดิม ก็เป็นอย่างเดิม คนที่ประสบความล้มเหลว มักจะตั้งคำถามว่า “จะโทษใครดี” คนที่ประสบความสำเร็จ มักจะตั้งคำถามว่า “จะแก้ไขอย่างไรดี”

2. ผลการวิจัยเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ทำวิจัย เช่น หากเป็นครูอาจารย์ ก็สามารถใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน ผู้สอนมีความมั่นใจในเนื้อหาการสอนมากขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อถือของผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียนสนุกมากขึ้น เข้าใจเนื้อหาของวิชาลึกซึ้งขึ้น ผู้สอนมีตัวอย่างของจริง และมีความคิดที่ใกล้โลกความเป็นจริงมากขึ้น

3. มีผลทางบวกต่อความเชื่อมั่นในความสำคัญของตนเอง (Self-Esteem) ของตัวผู้วิจัย มีกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นและคิดได้ชัดเจนมากขึ้น

4.การทำวิจัยจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ในศาสตร์หรืออนุศาสตร์นั้นๆ ผลการวิจัยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และธุรกิจ สามารถแปรเปลี่ยนความจริงที่พบเป็นนโยบายและการปฏิบัติต่อไป



การวิจัยก่อให้เกิดการพัฒนาครูและคุณภาพการศึกษา

การวิจัยทำให้

1. ผู้สอน “องอาจ” ยิ่งขึ้น

2. ผู้สอนมีเนื้อหาการสอนแน่น และครบถ้วนยิ่งขึ้น

3. ผู้สอนได้มีโอกาสเป็นนักเรียน

4. ผู้สอนสนุกมากยิ่งขึ้นกับกระบวนการเรียนการสอน

5. ผู้สอนเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ยิ่งขึ้น

6. ผู้สอนเข้าไปอยู่ในกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management)



รศ.ดร.วราภรณ์ สามโกเศศ ได้สรุปไว้ตอนท้ายการบรรยายว่า การวิจัย คือ “การเขย่าไว้ ไม่ให้นอนก้น” การคิดอะไรเหมือนเดิมเดิม จะไม่ก่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งใดเลย ดังนั้น ต้องเขย่าไว้เรื่อยเรื่อย อย่าให้วิชาความรู้ที่มีอยู่เดิมตกตะกอนนอนก้นลงไปข้างล่าง หมั่นเติมองค์ความรู้ใหม่และเขย่าองค์ความรู้เดิมอยู่เสมอ ผสมคละเคล้าให้เข้ากันจนได้ที่ เพื่อจะได้เกิดนวัตกรรมใหม่ใหม่ นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนแก่ลูกศิษย์ของพวกเราต่อไป(คัดลอกจากhttp://chantrawong.blogspot.com/2009/09/blog-post_15.html)